เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมหุ้นบางตัวถึงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ราวกับว่าไม่มีคู่แข่งหรือไม่ก็ไม่มีใครแข่งได้เลย?
แล้วทำไมหุ้นบางตัวโตดีมากในช่วงออกสตาร์ท แต่นานวันเข้ากลับหายเงียบไปเลย?
ความลับที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้คือ Moat หรือแปลกันง่ายๆ ว่าป้อมปราการนั่นเอง
ทำไมต้องเป็น Moat หรือป้อมปราการ?
ลองนึกภาพหนังสงครามย้อนยุคดู สมัยก่อนเวลาเราจะยกทัพไปตีปราสาทเพื่อยึดเมืองไหน เมืองนั้นจะมีป้อมปราการคอยเป็นโล่สุดแกร่งกำบังอยู่ ถ้าป้อมนั้นแข็งแกร่งมาก คู่ต่อสู้ก็คงตีไม่สำเร็จ ต้องถอยทัพพ่ายแพ้กลับไป นี่คือการเปรียบเปรยให้เห็นภาพว่า ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง หุ้นตัวนั้นย่อมสู้ได้ตลาดไม่พ่ายแพ้ให้ดับคู่แข่งรอบตัว
วอร์เรน บัฟเฟตต์ สุดยอดนักลงทุนได้เคยพูดถึง Moat หรือป้อมปราการของหุ้นเอาไว้ 4 เรื่องด้วยกัน วันนี้พี่วัวจะมาไล่เรียงกันไปให้ครบ 4 เรื่อง เราจะได้มองเห็นภาพออกว่า “อ๋อ หุ้นตัวนี้ได้เปรียบเพราะมีป้อมแบบนี้” เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนกันครับ
4 ป้อมปราการของวอร์เรน บัฟเฟตต์
1.ความได้เปรียบด้านต้นทุน
หมายถึงธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด เมื่อมีค้นทุนที่ถูกกว่า กำไรก็จะมากกว่า ถือเป็นความได้เปรียบที่แข็งแกร่งมาก
ข้อได้เปรียบสำคัญอีกเรื่องคือ ธุรกิจที่มีป้อมปราการนี้ เวลามีคู่แข่งอยากทำสงครามราคาด้วย พวกเขาจะสู้ได้สบายมาก เพราะเมื่อมีต้นทุนถูกกว่า นั่นแปลว่าพวกเขามีช่องว่างด้านราคาให้ลดลงมาสู้กันได้
ตัวอย่างเช่น ไส้กรอก A มีต้นทุน 5 บาท ส่วนไส้กรอก B มีต้นทุน 10 บาท ถ้าทั้งคู่ขายราคาเท่ากันที่ 30 บาท นั่นแปลว่าต่อให้ไส้กรอก B ลดราคาลงมาแข่งแย่งลูกค้า ไส้กรอก A ก็ไม่ต้องกลัวเพราะยังมีข้อเปรียบด้านต้นทุนอีกตั้ง 5 บาท
ธุรกิจที่มีป้อมนร้จะเป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าสูงมาก ทำให้ได้ต้นทุนผลิตที่ดี หรือพวกเขาอาจคุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงจัดจำหน่ายเองโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ควบคุมราคาได้ดี หรือไม่ก็เป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าออกมาได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าใคร
2.ความได้เปรียบด้านขนาด
ยิ่งธุรกิจใหญ่ ยิ่งได้เปรียบ เพราะเวลาจะจ่ายเงินผลิตอะไรก็คุมต้นทุนให้ดีและคุ้มค่ามากกว่า
ตัวอย่างเช่น ถ้า 7-11 จะทำแคมเปญการตลาดจ้างซูเปอร์สตาร์มาช่วยเป็นพรีเซนเตอร์ ต่อให้ต้องจ่ายค่าตัวมหาศาลนับ 10 ล้าน แต่พอผลิตสื่ออกมาใช้ตามร้านค้าจริงที่มีมากกว่า 2 หมื่นสามขา นั่นแปลว่าต้นทุนค่าดารตลาดต่อสาขาถูกลงมาก ซึ่งนี่คือสิ่งที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าอื่นที่ไม่มีสาขามากขนาดนี้สู้ไม่ได้
3.ความได้เปรียบด้านสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน
ป้อมนี้อาจอ่านแล้วงงได้ แต่พี่วัวอยากให้ลองนึกภาพสินค้าจาก Apple ดูครับ
ไม่ว่า Apple จะปล่อยไอโฟนหรือไอแพดตัวใหม่ออกมาได้ขัดใจนักวิจารณ์อย่างไร พวกเขาจะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่เปรียบเสมือนแฟนคลับคอยสนับสนุนอยู่เสมอ นี่คือสิ่งที่ภาษาการตลาดเรียกว่า Brand Royalty
สินค้าแบรนด์หรู เช่น กระเป๋าหลุยส์ วิคตอง ก็มีข้อได้เปรียบนี้ ต่อให้จะขายแพงแค่ไหน ลูกค้าก็ยังอยากได้สินค้าและเผลอๆ อาจยอมจ่ายแพงกว่าราคาขายจริงเพื่อให้ได้สินค้ามาครอบครองด้วย
จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์หรูเท่านั้น สินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวันแต่ครองใจผู้บริโภคได้สำเร็จ ก็มีป้อมปราการนี้ ตัวอย่างเช่น โค้ก นี่คือน้ำอัดลมแบรนด์ต้นๆ ในใจคน พี่วัวเองกินตั้งแต่เด็กจนโตก็ไม่เคยนึกเปลี่ยนใจ ต่อให้จะซื้อของเจ้าอื่นไปบ้าง สุดท้ายก็ชอบกินโค้กที่สุดอยู่ดี
นอกจากเรื่องแฟนคลับที่รักและภักดีต่อสินค้าและบริการแล้ว ข้อได้เปรียบนี้ยังรวมถึงสิทธิบัตรหรือสัมปทานด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทยา A เป็นเจ้าเดียวที่มีสิทธิบัตรยารักษาโรค B
4.ต้นทุนการเปลี่ยนย้าย
ลองนึกถึงผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนใช้จนเคยชิน ต่อให้มีเจ้าใหม่ให้เลือกก็ยังไม่อยากเปลี่ยนอยู่ดี หลายคนคงร้องอ๋อ แล้วนึกถึงค่ายมือถือและระบบปฏิบัติการ ใช่แล้วครับ ไม่มีใครอยากเปลี่ยนค่ายให้ยุ่งยาก ต้องเคลียร์ยอดค้าง ต้องเปลี่ยนซิม ต้องติดต่อสาขา ความยุ่งยากเหล่านี้ช่วยป้องกันไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจได้
คนที่ใช้ไอโฟนหรือไอแพดก็เช่นกัน พวกเขาใช้ระบบ iOS จนชินจนไม่อยากย้ายไปใช้แอนดรอยด์ เพราะนี่คือเรื่องยุ่งยาก