คนรอบตัวพี่วัวหลายคนชอบลงทุนกองทุนรวมมากเลยครับ พวกเขาให้เหตุผลง่ายๆ ว่า “ได้ผลตอบแทนดีกว่า” “สมัยนี้ซื้อขายสะดวกมาก”
การลงทุนกองทุนรวมเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะสมัยนี้เราซื้อขายกันได้ง่ายกว่าเดิม ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดีด้วย ดังนั้นการจัดพอร์ตกองทุนรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก วันนี้พี่วัวเลยมีคำแนะนำเรื่องการจัดพอร์ตกองทุนรวมมาฝากทุกคน โดยเราจะแบ่งสัดส่วนและประเภทออกตามช่วงอายุกัน
ทำไมควรปรับพอร์ตกองทุนรวมตามช่วงอายุ?
อายุมีผลกับการลงทุนมาก พี่วัวอยากให้ลองนึกภาพวัยเด็กของเรา ตอนนั้นเรามีพลังล้นเหลือ วิ่งเล่นได้ทั้งวัน ถึงล้มก็แค่ร้องงอแงแล้วก็อยากไปวิ่งเล่นต่อ พอโตขึ้นมาเป็นวัยทำงาน เราก็เริ่มมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น อยากลองและกล้าเสี่ยง แต่พอแก่ตัว เราเริ่มอยากมีความมั่นคงในชีวิตและไม่กล้าเสี่ยงเท่าเดิม
การลงทุนก็เช่นกัน แต่ละช่วงชีวิตก็มีความรับผิดชอบ ความสามารถในการรับความเสี่ยง และความสามารถในการหาเงินที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเรามาดูกันว่าช่วงวัยไหนควรจัดพอร์ตลงทุนรวมกันอย่างไร?
1.วัยเริ่มทำงาน อายุ 20-30 ปี
วัยนี้เหมือนนักวิ่งมาราธอนที่เพิ่งออกสตาร์ท! เรามีเวลาและพลังเยอะ ถ้าล้มก็ลุกได้ไว ดังนั้นเราสามารถรับความเสี่ยงได้มาก
คำแนะนำของพี่วัวคือ ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเป็นหลักประมาณ 80% ของพอร์ต ส่วนอีก 20% เก็บไว้ในกองทุนตราสารหนี้
พี่วัวแนะนำแบบนี้ เพราะเรายังเสี่ยงไหว กองทุนรวมหุ้นแม้จะเสี่ยงสูง แต่ก็ได้ผลตอบแทนสูง ยิ่งถ้าคุณรับความเสี่ยงได้มาก คุณสามารถเลือกเป็นกองทุนหุ้นเทคโนโลยีเลยก็ได้ กองทุนนี้ถึงจะเสี่ยงกว่า แต่ผลสอบแทนก็สูงมากกว่าเช่นกัน
ส่วนพอร์ตอีก 20% เราควรเน้นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อทำให้พอร์ตสมดุลขึ้น พี่วัวจึงแนะนำเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำแทน
2.วัยกลางคน อายุ 30-50 ปี
วัยนี้เปรียบเหมือนนักวิ่งที่วิ่งมาได้ครึ่งทางแล้ว หลายคนเริ่มมีภาระ หลายคนเริ่มสร้างครอบครัว มีบ้าน มีรถ เราจึงต้องการสมดุลระหว่างการเติบโตและความมั่นคง
คำแนะนำของพี่วัวคือ ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น 60% และกองทุนตราสารหนี้ 40%
สัดส่วนที่เปลี่ยนไปนี้ก็เหมือนกับเราปรับสูตรอาหาร เราต้องเติมอาหารสุขภาพเข้าไปบ้าง เพื่อดูแลสุขภาพของเราในระยะยาว ดังนั้นจึงเพิ่มสัดส่วนกองทุนรวมที่มีความมั่นคงมากขึ้นจากเดิม 20% ก็เพิ่มเป็น 40%
3.วัยใกล้เกษียณ อายุ 50-60 ปี
วัยนี้เปรียบเหมือนนักวิ่งที่เห็นเส้นชัยอยู่ไม่ไกล เราต้องการความแน่นอนมากขึ้น ไม่อยากเสี่ยงให้เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตหายไปตอนใกล้เกษียณ เพราะถ้าเรารักษาเงินที่เก็บมาไว้ไม่อยู่ โอกาสที่จะหาคืนกลับมาได้นั้นแทบจะยากมากจนอาจเป็นไปไม่ได้เลย
คำแนะนำของพี่วัวคือ ลดสัดส่วนกองทุนรวมหุ้นลงเหลือ 40% และเพิ่มกองทุนตราสารหนี้เป็น 60%
4.วัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป
วัยนี้เปรียบเหมือนนักวิ่งที่วิ่งถึงเส้นชัยแล้ว! เราต้องการความมั่นคงและรายได้สม่ำเสมอเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเราต้องลดความเสี่ยงที่จะเสียเงินต้นออกไปให้ได้มากที่สุด
คำแนะนำของพี่วัวคือ ลดสัดส่วนกองทุนรวมหุ้นเหลือแค่ 20% ส่วนอีก 80% เน้นกองทุนตราสารหนี้
กองทุนตราสารหนี้จะเป็นหลักประกันให้ได้ว่าเงินต้นเราจะไม่ลดลง ส่วนกองทุนรวมหุ้นก็เอาไว้เพิ่มผลตอบแทน
ทิ้งท้ายกันสักนิดว่า ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น เพราะทุกคนมีปัจจัย สภาพแวดล้อม และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน สมมุติว่าพี่วัวอายุ 35 ปี แต่มีภาระรับผิดชอบเยอะ พี่วัวต้องดูแลครอบครัวแถมยังมีลูกอีก 2 คน พี่วัวก็อาจจะเลือกตัวเลขสัดส่วนของคนวัยใกล้เกษียณอย่างกองทุนรวมหุ้น 40% และกองทุนตราสารหนี้ 60% ก็ได้ เพราะพี่วัวไม่พร้อมรับความเสี่ยงที่จะต้องเสียเงินต้นที่เก็บสะสมเอาไว้