สรุปหนังสือ Start With Why ชีวิตคุณเปลี่ยนได้ ด้วยคำถามเพียงข้อเดียว

ทำไมบริษัท Apple ถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากมาย ทั้งๆ ที่ Apple ก็เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ เหมือนชาวบ้าน มีคนเก่งๆ มาทำงานเหมือนกับบริษัทอื่นๆ จ้างเอเจนซีและที่ปรึกษาแบบเดียวกัน แล้วทำไม Apple ถึงแตกต่างจากที่อื่น

ทำไมมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถึงสามารถระดมมวลชน เรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำได้สำเร็จ? เขาไม่ใช่คนคนเดียวที่ได้รับผลกระทบของการถูกริดรอนสิทธิพลเมืองในอเมริกายุคนั้น และเขาก็ไม่ใช่นักพูดที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศเพียงคนเดียว แล้วทำไมถึงเป็นเขาล่ะ?

แล้วทำไมพี่น้องตระกูลไรท์ ถึงสร้างเครื่องบินมีคนขับได้ แม้ว่าในขณะนั้นมีทีมนักประดิษฐ์อื่นที่เก่งกว่า มีเงินทุนมากกว่า แต่ทำไม่สำเร็จ ปล่อยให้พี่น้องตระกูลไรท์เอาชนะไปได้?

เออ นั่นสิ ทำไมล่ะ?


สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามสำนักพิมพ์บิงโก ทั้งคนที่เป็นตามอ่านมาหลายบทความแล้ว และคนที่กดผิดพลัดหลงเข้ามา อย่าเพิ่งหนีไปไหนนะ ผมรับรองว่า ใช้เวลาแค่ 5 นาทีอ่านบทความนี้ คุณจะเห็นโลกในอีกมุมแน่นอน

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดา นักศึกษามหาลัย พนักงานเงินเดือน เจ้าของกิจการ หลังจากอ่านบทความนี้จบ คุณจะเข้าใจความคิดเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของพลังมนุษย์แน่นอน ต่อไปคือสาระสำคัญจากหนังสือ START WITH WHY (“ตั้งคำถามเพียง 1 ข้อ ก็พลิกจากตามขึ้นมานำ”)


ทำไม ทำไม ทำไม ทำไม ทำไม?

 

Start With Why
หนังสือ Start With Why

 

ในหนังสือเล่มนี้  ผู้เขียน Simon Sinek ได้เปิดเผยความลับของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ และพาคุณไปทำความเข้าใจคำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศตวรรษนี้ นั่นคือ คำว่า “ทำไม”

คำถามสำคัญที่จะเป็นพระเอกหลักของหนังสือเล่มนี้ “ทำไม?”

คุณเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่า ทำไมถึงทำสิ่งนี้?

คุณอยากทำงานที่คุณรักหรือเปล่า?

แม้คุณจะตะโกนตอบว่า “ใช่” แต่ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ไม่ได้เพลิดเพลินไปกับงานของพวกเขาเท่าไหร่นัก พวกเขามองว่า การตามหางานในฝันเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
มันเป็นไปไม่ได้จริงๆ เหรอ? คุณไม่มีทางหางานที่ตอบโจทย์ชีวิตได้จริงๆ เหรอ?

คุณหาได้แน่นอนครับ

แค่ต้องค้นลงไปในก้นบึ้งของหัวใจ มองหาสิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นรัว สิ่งที่คุณเชื่อ หาเหตุผลของตัวเองให้เจอ หาสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตของคุณมีความหมายมากขึ้น สิ่งที่ทำให้เรื่องอื่นๆ ในชีวิตกลายเป็นเรื่องรอง

Simon Sinek ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างที่ดี แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในอาชีพนักโฆษณา แต่เขาก็รู้สึกว่า ชีวิตจะเติมเต็มมากกว่าถ้าเขาทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง ซิเนคอยากเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนออกไปตามหาคำตอบของตัวเอง เลยตัดสินใจออกมาทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ

เป้าหมายของซิเนคคือ ผลักดันให้ทุกคนออกไปไล่ตามสิ่งที่ทำให้หัวใจพองโต และกระตุ้นให้คนรอบข้างสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นต่ออีกทอด ทุกคนสามารถค้นพบคำตอบของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งโชคลางหรือตัวช่วยใดใด แค่ต้องยึดหลัก 2-3 ข้อที่คุณจะได้เรียนรู้ในบทความนี้

 

Simon Sinek ผู้แต่งหนังสือ Start With Why


เมื่อคุณเข้าใจหลักการและนำไปประยุกต์ใช้สำเร็จ ผมบอกเลยว่าคุณจะตกใจกับผลที่ออกมา

ผู้นำทุกคนที่สามารถเปลี่ยนโลก พลิกโฉมวงการอุตสาหกรรม และสร้างองค์กรที่พนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่น ล้วนเริ่มต้นด้วยคำถามศักดิ์สิทธิ์เพียงคำถามเดียว ทำไม?

 

จงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น 

เรามักเห็นภาพการปลุกระดมผู้คนให้ออกไปทำอะไรบางอย่างอยู่เสมอ เช่น กระตุ้นให้คนในหมู่บ้านออกมามีส่วนร่วมในโครงการการกุศล ใช้สิ่งล่อใจดึงดูดพนักงานขยันทำงานมากขึ้น หรือรณรงค์ให้ประชาชนออกไปลงคะแนนเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่ง

ผู้นำในองค์กรส่วนใหญ่มักจะจูงใจพนักงานด้วยการสร้างระบบรางวัลล่อใจหรือไม่ก็กระตุ้น (ข่มขู่) ด้วยบทลงโทษ แต่ผู้นำที่ยอดเยี่ยมจะทำสิ่งที่ต่างออกไป พวกเขาจะกระตุ้นให้คนรอบข้างทำงาน ไม่ใช่เพื่อรางวัลหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ ผู้นำที่ยอดเยี่ยมจะสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังให้พนักงานมีความมุ่งมั่นในการทำงานจากภายใน ดังนั้น พนักงานจะทำตามที่ผู้นำสั่งไม่ใช่เพราะผู้นำคนนั้นพูดเหตุผลที่ฟังดูเข้าท่า แต่เพราะเสียงหัวใจเรียกร้องให้ลงมือทำ แรงจูงใจแบบนี้จะฝังรากลึกกว่าสิ่งจูงใจที่เป็นเงินหรือสิ่งของ คนที่มีแรงบันดาลใจจะได้รับการลงทุนกับแรงจูงใจเหล่านั้นในตัวเอง

พนักงานที่มีแรงบันดาลใจจะนั่งที่โต๊ะทำงาน และสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมาย (หรือเกินเป้า) โดยไม่ต้องมีใครมาคอยกระตุ้น เขาไม่ได้ทำเพื่อเงินหรือรางวัล แต่ทำเพราะตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่กำลังทำ

ย้อนไปตอนช่วงปี 1900 การคิดค้นเครื่องบินที่มีคนบังคับก็เหมือนธุรกิจดอทคอมสมัยนี้ ใครๆ ก็พยายามหาวิธีสร้างเครื่องบิน แซมมวล แลงค์ลีย์ คือหนึ่งในคนเหล่านั้น แลงค์ลีย์ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล มีตำแหน่งในมหาลัยฮาร์วาร์ด มีคอนเนคชั่นกว้างขวาง รู้จักคนเก่งๆ ในยุคนั้น เขาจ้างแต่คนระดับสุดยอดหัวกะทิมาทำงาน หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ติดตามการทำงานของเขาทุกฝีก้าว ใครๆ ก็ติดตามแลงค์ลีย์

แล้วทำไมตอนนี้ไม่มีใครรู้จักแซมมวล แลงค์ลีย์ เลยล่ะ?

อีกฝากหนึ่งของอเมริกา ในเมืองเดย์ตัน สองพี่น้องตระกูลไรท์ที่เป็นเจ้าของร้านจักรยานเล็กๆ กลับเป็นชื่อที่เราทุกคนรู้จักในฐานะผู้ที่สร้างเครื่องบินที่ใช้คนบังคับได้สำเร็จเป็นคนแรก ตอนนั้นสองพี่น้องไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นส่วนผสมของความสำเร็จเลย เขาไม่มีเงิน ไม่มีใบปริญญา หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ไม่ได้แยแสสองพี่น้องเลยสักนิด

 

start with why
สองพี่น้องตระกูลไรท์

 


สิ่งที่แตกต่างคือ สองพี่น้องตระกูลไรท์ทำไปด้วยแรงผลักดัน อยากทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ พวกเขาเชื่อว่า ถ้าสามารถคิดค้นวิธีสร้างเครื่องบินขึ้นมา มันจะเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ แต่แซมมวล แลงค์ลีย์ ไม่คิดอย่างนั้น เขาแค่อยากรวย อยากดัง แล้วดูสิครับ เกิดอะไรขึ้น

คนที่เชื่อในความฝันของสองพี่น้องตระกูลไรท์เต็มใจทำงานอาบเหงื่อร่วมกับเขา ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งทำงานเพื่อค่าจ้าง ทุกครั้งที่พี่น้องตระกูลไรท์ออกไปทดสอบเครื่องบิน พวกเขาต้องเอาอะไหล่ไปด้วย 5 ชุด เพราะเขาจะทดลองแล้วทดลองอีก จนเครื่องพังถึง 5 ครั้ง แล้วถึงจะยอมกลับมากินข้าวมื้อเย็น

 

ผู้นำทุกคนต้องรู้จัก “วงกลมทองคำ”

ซิเนคเห็นแบบแผนอย่างหนึ่งที่ผู้นำหรือองค์กรที่เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และพี่น้องตระกูลไรท์ ล้วนคิด ทำ และสื่อสารในรูปแบบเดียวกัน ซิเนคเรียกแบบแผนนี้ว่า วงกลมทองคำ (The Golden Circle)

วงกลมทองคำของซิเนคประกอบไปด้วยวงกลม 3 วงที่มีจุดศูนย์กลางร่วมกัน (นึกภาพเหมือนเป้าปาลูกดอก) โดยที่วงกลมในสุดตรงกลางคือ WHY ล้อมรอบด้วย HOW และนอกสุดคือ WHAT ตามรูป

start with why
อะไร = สินค้าหรือบริการที่คุณเสนอให้กับผู้บริโภค
อย่างไร = กระบวนการที่คุณใช้สร้างสินค้าหรือบริการนั้นขึ้นมาจนโดดเด่นกว่าคู่แข่ง
ทำไม = จุดประสงค์ที่คุณสร้างสินค้าหรือบริการนั้นตั้งแต่แรก (อะไรก็ตามที่ไม่ใช่เงิน)

 

ทำไม? อย่างไร? และ อะไร? แค่ 3 คำนี้ก็นำไปสู่คำอธิบายว่า ทำไมบางองค์กร และผู้นำบางคนถึงสร้างแรงบันดาลใจได้ ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้ ตอนนี้คุณอาจไม่เชื่อว่า 3 คำนี้มันมีอิทธิพลมากขนาดนั้น แต่ก่อนอื่น ขอนิยาม 3 คำนี้เพิ่มอีกสักนิด

คนทุกคน และองค์กรทุกองค์กรบนโลกนี้ รู้ว่าตัวเองทำอะไรแน่ๆ แต่มีแค่บางคนหรือบางองค์กรเท่านั้นที่รู้ว่าจะทำสิ่งนั้นอย่างไร เช่น ทำสิ้งนั้นด้วยการเสนอคุณค่าที่แตกต่าง ด้วยกระบวนการผลิตเฉพาะ หรือด้วยจุดขายที่แตกต่าง เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น มีคนหรือองค์กรจำนวนน้อยมากๆ ที่รู้ว่าเขาทำสิ่งที่เขาทำอยู่ไปทำไม

คำว่า “ทำไม” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “กำไร” เพราะมันเป็นแค่ผลลัพธ์

คำว่า “ทำไม” ในที่นี้หมายถึง  เจตนารมณ์ จุดมุ่งหมาย ความเชื่อของคุณ องค์กรของคุณตั้งขึ้นมาทำไม? ทำไมคุณถึงต้องลุกขึ้นจากเตียงทุกเช้า? แล้วทำไมคนอื่นจึงควรจะสนใจในสิ่งที่คุณทำ?


วงกลมทองคำชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างธุรกิจหรือองค์กรและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ท้ายที่สุด ผู้นำไม่ควรสื่อสารแค่ว่า คุณกำลังทำอะไร (WHAT) หรือทำอย่างไร (HOW) แต่ต้องประกาศชัดเจนด้วยว่า ทำไปทำไม (WHY)

แนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดแค่ผู้นำองค์กรหรือนักธุรกิจเท่านั้น คนธรรมดาอย่างเราก็นำแนวคิดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ใครที่ไม่เคยคิดในรูปแบบนี้ ผมอยากให้ลองเปิดรับ เรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ รับรองว่ามีประโยชน์แน่นอครับ

 

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่สื่อสารตามแนวคิดวงกลมทองคำ จากภายในสู่ภายนอก

การสื่อสารครบทั้ง 3 ประเด็นว่า คุณกำลังทำอะไร (WHAT) ทำอย่างไร (HOW) และทำไปทำไม (WHY) ยังไม่เพียงพอ คุณต้องเรียงลำดับให้ถูกต้องด้วย

วิธีคิด การกระทำ และการสื่อสารของคนส่วนใหญ่ มักเริ่มจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เริ่มจากสิ่งที่ชัดเจนที่สุดไปหาสิ่งที่คลุมเครือที่สุด โดยเรียงลำดับตามนี้

WHAT -> HOW -> WHY

แต่ผู้นำและองค์กรที่เต็มไปด้วยพลังไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน ล้วนคิด ทำ และสื่อสาร จากข้างในสู่ข้างนอก

WHY -> HOW -> WHAT

ลองมาดูวิธีที่บริษัท Apple สื่อสารกันนะครับ ถ้า Apple เป็นเหมือนบริษัทอื่นๆ ข้อความการตลาดคงจะออกมาแบบนี้

“เราทำคอมพิวเตอร์ที่สุดยอด ด้วยการออกแบบสวยงาม ใช้ง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้ อยากซื้อสักเครื่องไหมครับ”

 

ไม่มีทาง แต่นั่นล่ะ เราส่วนใหญ่สื่อสารกันแบบนี้ ทำการตลาดแบบนี้ ขายแบบนี้ สื่อสารกับผู้คนแบบนี้ เราบอกว่า เราทำอะไร เราต่างอย่างไร หรือดีกว่าอย่างไร แล้วก็คาดหวังพฤติกรรมบางอย่างจากผู้บริโภค เช่น อยากให้เขามาซื้อของ มาลงคะแนนเสียงให้ แต่ปัญหาคือ การสื่อสารแบบนี้ไม่สร้างแรงบันดาลใจ

 

Apple สื่อสารแบบนี้

“ทุกอย่างที่เราทำ เราทำเพราะเราเชื่อในการท้าทายสิ่งเก่าๆ เราเชื่อในการคิดต่าง และเพื่อท้าทายระบบเก่าๆ นั้น เราสร้างผลิตภัณฑ์ของเราให้มีดีไซน์สวยงาม ใช้งานง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้ เราก็เลยสร้างคอมพิวเตอร์ที่ยอดเยี่ยมขึ้นมา อยากซื้อสักเครื่องไหมครับ?”

 

รู้สึกถึงพลังมั้ยครับ? ผมฟังแล้วอยากซื้อคอมพิวเตอร์จาก Apple เลย แค่สลับลำดับการนำเสนอข้อมูลเท่านั้นเอง

start with why
“ลูกค้าไม่ได้ซื้อสิ่งที่คุณทำ เขาซื้อเหตุผลที่คุณทำต่างหาก”

 

ธุรกิจและองค์กรที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม” มั่นคงกว่า

บริษัทที่ยอดเยี่ยมจะจูงใจลูกค้าและพนักงานด้วยจุดมุ่งหมายของบริษัท

ทุกการตัดสินใจล้วนมาจากวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ประกาศในวันก่อตั้งบริษัท การสร้างแรงบันดาลใจจะทำให้มีผู้ติดตาม (ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นต่อไป) ผู้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือพนักงาน คือคนที่ภักดีต่อบริษัทมากที่สุด หากได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา การพลิกวงการอุตสาหกรรมหรือเปลี่ยนโลกทั้งใบก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชาวอเมริกันอย่าง Harley-Davidson ได้สร้างฐานชุมชนผู้ติดตามที่ภักดีมาตลอด 100 ปี สำหรับเหล่าสาวก Harley-Davidson ไม่ใช่แค่รถจักรยานยนต์ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญต่อพวกเขาถึงขนาดยินดีอดทนรอรถมอเตอร์ไซต์ที่พวกเขาสั่งซื้อเป็นเดือน และสักโลโก้ Harley-Davidson บนต้นแขนระหว่างรอ

รอยสัก Harley Davidson บ่งบอกถึงความภักดีต่อแบรนด์

 


ทุกธุรกิจล้วนต้องการทำให้ตัวเองดูแตกต่างจากคู่แข่งให้มากที่สุด แต่ธุรกิจที่ตอบคำถามว่า “องค์กรของคุณตั้งขึ้นมาทำไม” ได้ชัดเจนจะไม่ต้องปวดหัวกับการแข่งขัน

บริษัทที่ประกาศเหตุผลชัดเจนจะดึงดูดพนักงานที่ยอดเยี่ยมได้ พนักงานเหล่านี้คือสินทรัพย์ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้จะหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้บริษัทในยามวิกฤติเสมอ ถือเป็น Unfair Advantage หรือข้อได้เปรียบในธุรกิจอย่างแท้จริง (แม้ว่าคู่แข่งจะเลียนแบบคุณทุกกระเบียดนิ้ว แต่ถ้าปราศจากทีมหรือพนักงานที่ยอดเยี่ยม พวกเขาก็ไม่มีวันเข้าใกล้ธุรกิจของคุณได้)

 

 

คนที่มีแรงจูงใจจากภายในเป็นทรัพยากรที่ดีที่สุด

คุณต้องมีเจตนารมณ์ จุดมุ่งหมาย และความเชื่อที่แน่วแน่ พร้อมกับสื่อสารมันออกไปให้ชัดเจน คนที่เชื่อแบบเดียวกับคุณจะเชื่อและภักดีต่อคุณ ผู้คนก็จะติดตามคุณ ไม่ใช่เพราะว่ารู้สึกผูกพันหรือคาดหวังรางวัลตอบแทน แต่เป็นเพราะว่าเขาเชื่อในตัวคุณ

พนักงานที่มีเป้าหมายร่วมกันและเชื่อในตัวผู้นำองค์กรนั้นยินดีที่จะทำงานหนักและยาวนานกว่าคนทั่วไป เพราะพวกเขาตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้นำต้องจ้างพนักงานที่เชื่อมั่นแบบเดียวกับบริษัท ไม่ใช่จ้างคนที่มีคุณสมบัติหรือทักษะครบตามต้องการเท่านั้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อย่าจ้างคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและค่อยสร้างแรงจูงใจภายหลัง แต่ให้จ้างคนที่มีแรงจูงใจในตัวอยู่แล้ว และค่อยกระตุ้นให้มีแรงบันดาลใจ

สายการบิน Southwest Airlines ก็นำปรัชญานี้ไปใช้

ย้อนกลับไปในปี 1970 การแข่งขันคว้าตัวแอร์โฮสเตสตัวท็อประหว่างสายการบินเป็นไปอย่างดุเดือด Southwest Airlines จึงตัดสินใจจ้างเฉพาะคนที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์และนักเต้นสำหรับตำแหน่งนี้เท่านั้น ปรากฏว่าสาวๆ เหล่านี้เป็นผู้สมัครที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะพวกเชียร์ลีดเดอร์และนักเต้นอยู่มีแรงจูงใจภายในที่จะมอบความสุข และทำให้คนรอบข้างสบายใจอยู่แล้ว

พนักงานที่มีแรงจูงใจเช่นนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อลูกค้าเท่านั้น แต่ยังดึงดูดบรรดาเพื่อนพ้องที่มีความมุ่งมั่นเหมือนกันให้มาสมัครงานที่บริษัทด้วย

start with why
แอร์โฮสเตรสของสายการบิน Southwest Airlines

 

ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเชื่อใจ พนักงานรู้สึกเป็นอิสระในการทำงาน สร้างความเปลี่ยนแปลง และก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจหรือองค์กรของคุณโดดเด่นกว่าที่อื่น

 

ความสำเร็จในระยะยาวขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ตอนเริ่มต้น

ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตามแนวคิดวงกลมทองคำ  เมื่อบริษัทดำเนินธุรกิจไปได้สักพัก ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายแรกจะถูกลืมได้ง่าย ในช่วงที่บริษัทจำเป็นต้องโฟกัสที่ตัวเลข การทำกำไรระยะสั้นและคว้าชัยชนะอย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่ามันไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายที่แท้จริงของบริษัทก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จเล็กๆ ทุกย่างก้าวของบริษัทยังนำไปสู่การเพิ่มจำนวนคน ยิ่งมีพนักงานมากเท่าไหร่ เจตนารมณ์ จุดมุ่งหมาย ความเชื่อตอนเริ่มต้นก็ยิ่งถูกลืมได้ง่าย ส่งผลให้เกิดผลเสียในระยะยาว นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องคอยย้ำเตือนเจตนารมณ์ที่ผู้ก่อตั้งประกาศในวันแรกอยู่เสมอ

ลองดูตัวอย่างจาก Walmart ที่เริ่มจากการบริการลูกค้าและพนักงานเป็นเลิศ แต่หลังจากผู้ก่อตั้งเสียชีวิต Walmart มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไร เลยลดเงินเดือนพนักงาน ต่อมาพนักงานหลายสิบคนจึงฟ้องร้องบริษัทว่าได้รับค่าจ้างต่ำเกินไป ผลสรุปคือ Walmart ต้องจ่ายเงินชดเชยหลายร้อยล้านดอลลาร์

การหาเป้าหมายของตัวเองนับว่ายากแล้ว แต่การทำให้เป้าหมายยังชัดเจนเหมือนตอนเริ่มต้นนั้นยากกว่า

 

การใช้สิ่งล่อใจดึงดูดลูกค้าอาจให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม

ธุรกิจส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าด้วยการดึงดูด โน้มน้าว และใช้เทคนิคต่างๆ ในการควบคุมปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ ธุรกิจเหล่านี้จะไม่สนใจแรงจูงใจที่แท้จริงของลูกค้าของพวกเขา

กลยุทธ์ที่พบบ่อยอย่างโปรโมชั่น “ลดราคาล้างสต๊อก” “ส่วนลดประจำเทศกาล” “ซื้อ 1 แถม 1” ที่พยายามลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่า “นี่คือโอกาสครั้งเดียวในชีวิต” หรือข้อความโฆษณาปลุกเร้าที่เพิ่มแรงกดดันจากคนรอบข้างเช่น “4 ใน 5 ของทันตแพทย์ใช้แปรงสีฟันนี้”

เหตุผลง่ายๆ ข้อเดียวที่กลยุทธ์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เพราะมันได้ผล แต่ก็เป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน แม้นั่นทำให้ยอดขายดี แต่บริษัทต้องยอมกรีดแขนตัวเองเพื่อลดราคาให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้า เกิดเป็นภาพวงจรอุบาทว์ “ถ้าไม่ลด ไม่ซื้อ” ท้ายที่สุด ธุรกิจจะไม่ได้รับประโยชน์ใดใดจากกลยุทธ์เหล่านี้ เพราะมันไม่ได้สร้างความรู้สึกให้ลูกค้าเชื่อหรือภักดีต่อแบรนด์เลย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณสร้างแรงบันดาลใจเพื่อดึงดูดลูกค้า มันจะช่วยสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีในระยะยาว คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับกลยุทธ์การขายดาษๆ ข้างต้น ลูกค้าที่ภักดีจะซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณแม้ว่าสินค้าของคุณไม่ได้ดีและถูกที่สุดในตลาดก็ตาม

การใช้สิ่งล่อใจเพื่อดึงดูดลูกค้าสามารถสร้างยอดขายในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้สร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจเลย

นี่เป็นคำอธิบายว่า ทำไมเราเลือกที่จะซื้อคอมพิวเตอร์จาก Apple ไม่เพียงแค่นั้นเรายังยินดีที่จะซื้อเครื่องเล่น mp3 สมาร์ทโฟน และนาฬิกาจาก Apple ด้วยทั้งๆ ที่ Apple ก็เป็นแค่บริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีโครงสร้างไม่ต่างจากคู่แข่งอื่นๆ เลย

 

สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ Start With Why 

ขอส่งท้ายด้วยเหตุการณ์ที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์โลก

start with why
สุนทรพจน์ของดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง “I have a dream” คือ 1 ในสุนทรพจน์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก

 

ในฤดูร้อนปี 1963 คน 250,000 คนมารวมตัวที่อนุสาวรีย์ลิงคอล์นในวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อฟังดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง พูด คนที่มาไม่ได้รับบัตรเชิญจากใครและไม่มีเว็บไซต์ให้เช็ควันเวลา แล้วท่านทำได้อย่างไร?

ดร.คิงไม่ใช่คนเดียวในอเมริกาที่เป็นนักปาฐกถาที่ยอดเยี่ยม ท่านไม่ใช่คนเดียวในอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งแยกคนผิวดำ ที่จริงความคิดบางอย่างของท่านก็เป็นความคิดที่แย่ แต่ท่านมีพรสวรรค์ ท่านไม่ได้ไปคอยบอกชาวบ้านว่าต้องทำอะไรเพื่อเปลี่ยนอเมริกา แต่ท่านออกไปพบปะและบอกกับผู้คนว่า “ผมเชื่อว่า… ผมมีความฝันว่า…”

ท่านบอกประชาชนอย่างนั้น คนที่เชื่ออย่างเดียวกับท่านก็เข้ามาร่วมวง และรู้สึกว่าสิ่งที่ดร.คิงพูดคือเป้าหมายของตัวเอง แล้วก็บอกต่อๆ กันไป คนเหล่านี้กระจายข่าวสารไปยังคนในวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ ปรากฏว่าคนกว่า 250,000 มาชุมนุมพร้อมเพรียงกันในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 เพื่อฟังดร.คิงกล่าวสุนทรพจน์

คุณคิดว่าในวันนั้น มีกี่คนที่มาเพื่อ ดร.คิง?

.

.

.
.
.
.

ไม่มีเลย

พวกเขามาด้วยเหตุผลของตัวเอง ความเชื่อในความเท่าเทียมและสิทธิพลเมืองทำให้เขากระโดดขึ้นรถโดยสาร เดินทาง 8 ชั่วโมง เพื่อมายืนตากแดดกลางเดือนสิงหาคมที่กรุงวอชิงตัน พวกเขามาเพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

 

Simon Sinek เคยขึ้นเวที TED Talk บรรยายหัวข้อ How great leaders inspire action ตามไปฟังได้ที่นี่ >> How great leaders inspire action

หลังจากที่ Simon Sinek เขียนหนังสือ Start With Why 2 ปีต่อมา เขาก็ซุ่มเขียนหนังสืออีกเล่ม คราวนี้เขาตั้งใจชี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของความเป็นผู้นำ ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวและเรื่องราวของบุคคลชื่อดัง กลายเป็นหนังสือขายดีอีกเล่มที่ชื่อว่า Leaders Eat Last ผมทำสรุปหนังสือเล่มนี้ไว้แล้วไปตามอ่านได้ที่ >> [สรุปหนังสือ Leaders Eat Last]

แนะนำหนังสือที่คุณน่าจะชอบ

ความเป็นผู้นำยังมีอีกหลายแง่มุมให้เราได้ศึกษากัน สนพ.บิงโกมีหนังสืออีกเล่มจากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีสุดยอดผู้นำมากมายอย่างญี่ปุ่นมาแนะนำครับ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์คนเก่งจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเขาได้ปั้นผู้นำญี่ปุ่นมาแล้วมากกว่า 1,000 คน

เราหลายคนถูกสอนมาให้ “เก่งทางเดียว” แล้วเก่งด้านนั้นให้สุดทางไปเลย

วิธีคิดแบบนี้ใช้ได้ผลในสมัยก่อนที่คนเก่งมีน้อย แต่โลกเรากำลังเปลี่ยนไป สมัยนี้คนเก่งเกลื่อนจนแทบจะเดินชนกัน ต่อให้คุณทำอะไรได้ ก็จะมีอีกเป็นหมื่นคนและ AI ที่ทำได้เหมือนคุณ

หนังสือวิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด จะสอนให้คุณเป็น “เป็ด” ที่เก่งรอบด้าน และสามารถนำทักษะที่หลากหลายมาใช้ ให้ก้าวหน้าในงาน ชีวิต และธุรกิจ

บทความอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้ Start With Why

  • บุคคลซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “สุดยอดผู้นำ” อีกคนหนึ่งก็คือ สตีฟ จ็อบส์ ถ้าคุณสนใจอยากศึกษาประวัติของชายผู้นี้ให้มากขึ้น สนพ.บิงโกได้ทำสรุปบทเรียนชีวิตและการทำงานของเขาจากหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Steve Jobs เอาไว้ให้คุณเรียบร้อยแล้ว
  • อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก? คุณสามารถหาคำตอบนั้นได้ในหนังสือ Becoming Facebook คิดแบบมาร์ค ทำแบบเฟซบุ๊ก หนังสือที่จะเล่าแนวคิดของมาร์ค ชายซึ่งเปลี่ยนไอเดียเล็กๆ จากหอพักนักศึกษาให้กลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งโลกอินเทอร์เน็ตได้ในที่สุด
  • เมื่อนึกภาพผู้นำ คุณเห็นภาพผู้นำยืนตระหง่านสีหน้าขึงขัง ท่าทางมั่นใจในตัวเองเหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ หรือเปล่า? หรือคุณห็นภาพผู้นำอีกแบบที่ยิ้มแย้มแจ่มใสให้ผู้ติดตามแบบโจ ไบเดน? ลักษณะท่าทางของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้ง 2 คนนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง จนเกิดเป็นภาพผู้นำสองแบบที่น่าสนใจมาก ผู้นำ 2 สไตล์นี้ต่างกันอย่างไร? ใครดีหรือแย่กว่ากัน? แล้วคุณควรเป็นผู้นำแบบไหน?
  • กระทั่งบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิลเอง ก็บริหารโดยให้ความสำคัญกับคนเป็นหลัก How Google Works เป็นวิธีทำธุรกิจที่อดีต CEO ของกูเกิล เอริค ชมิตต์ เขียนด้วยตัวเอง เพื่อสอนการทำธุรกิจที่เน้นคนเก่งเป็นหลัก

5 thoughts on “สรุปหนังสือ Start With Why ชีวิตคุณเปลี่ยนได้ ด้วยคำถามเพียงข้อเดียว

  1. Pingback: สรุปบทเรียนจากหนังสือเก่าที่ไม่เก่า “ใครเอาเนยแข็งของฉันไป” - สำนักพิมพ์บิงโก

  2. Pingback: สรุปหนังสือ Leaders Eat Last สอนภาวะผู้นำ นำอย่างไร ให้ได้ทั้งใจ ได้ทั้งงาน

  3. Pingback: สรุปหนังสือ Toyota Kata "วิถีโตโยต้า": หลักคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีวันแพ้

  4. Pingback: สรุปหนังสือ Permission Marketing ขายออนไลน์แล้วทำไมยังเจ๊ง - สำนักพิมพ์บิงโก

  5. Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก