ปู่ Sam Walton คือตำนานผู้สร้างธุรกิจจากร้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง เป็นอาณาจักรซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 ของโลก ก่อนหน้านี้เราพูดถึงบริษัทเทคโนโลยีไปเยอะมาก ทั้ง Facebook, Google, Apple และ Amazon คราวนี้เราลองมาดูธุรกิจคลาสสิคอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตกันบ้างครับ (ถ้าคุณสนใจ สามารถดูบทความเกี่ยวกับ McDonald’s และ Nike ได้ครับ)
ถ้าพูดถึงร้านค้าปลีกชื่อดังจากอเมริกา หลายคนคงนึกถึง “ราชาอีคอมเมิร์ซ” อย่าง Amazon ที่รวมสินค้าทั่วทุกมุมโลกมาอยู่บนเว็บไซต์เดียว … ก็ไม่ผิดนักถ้าเรามองที่การขายของออนไลน์ แต่ถ้าเป็นร้านค้าภาคพื้นดิน คนที่ครองแชมป์กลับเป็น “วอลมาร์ท” ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและในโลก
- ยอดขายต่อปีของวอลมาร์ทสูงกว่า Amazon 2 เท่า และสูงกว่า Alibaba 14 เท่า
- สินค้าอุปโภคบริโภคของคนอเมริกันเกินครึ่ง ซื้อจากวอลมาร์ท
- วอลมาร์ทมีพนักงานประจำทั่วโลก 2.2 ล้านคน คิดเป็น 7 เท่าของประชากรประเทศไอซ์แลนด์ แต่ถ้าคิดเฉพาะพนักงานในอเมริกา จะได้ 1.4 ล้านคน เท่ากับประชากรจังหวัดชลบุรี
- เมื่อเอาลานจอดรถของวอลมาร์ททุกสาขามารวมกัน จะมีขนาดใหญ่เท่าเกาะภูเก็ตเลย
- ลูกหลานวอลมาร์ทมีทรัพย์สินรวมกัน 150 พันล้านดอลลาร์ (4.8 ล้านล้านบาท) ถ้ารวมเป็นคนเดียวจะกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก
ที่น่าทึ่งก็คือ เครือซูเปอร์มาร์เก็ตวอลมาร์ทนั้นสร้างขึ้นในชั่วอายุคนเดียวเท่านั้น โดยคุณ “แซม วอลตัน” หรือ “ปู่แซม” ชายที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการสร้างเครือซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยสโลแกน “ของดี ลดราคาสุดๆ ทุกวัน!” … หลักคิดต่างๆ ของเขาได้เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจของร้านค้าทั่วโลกไปตลอดกาล
ก่อนปู่แซมจะเสียชีวิต เขาได้เขียนหนังสือบอกเล่าชีวิตตั้งแต่เด็กจนกระทั่งสร้างวอลมาร์ทเป็นบริษัทระดับโลก รวมถึงแนวคิดที่เขาใช้ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จขึ้นมา เรื่องราวทั้งหมดมีทั้งด้านธุรกิจ (ทำยังไงถึงสร้างธุรกิจจนใหญ่โต) และด้านชีวิต (ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ในขณะที่ประสบความสำเร็จทางการงาน) โดยคุณจะได้เรียนรู้ทั้งสองด้านที่น่าสนใจของเขา
เนื้อหาข้างล่างจะเป็นเรื่องราวโดยละเอียดนะครับ ถ้าใครอยากอ่านแนวคิดเน้นๆ สามารถเข้าไปดู กฎ 10 ข้อของ แซม วอลตัน ที่กลั่นกรองแนวคิดของเขามาแล้วได้เลย
แซม วอลตัน เกิดมายากจนในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
แซมเกิดในปี 1918 ในครอบครัวชนชั้นล่างที่รัฐโอกลาโฮมา พ่อของเขาทำงานหลายกะเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว พ่อภูมิใจที่ตัวเองไม่เคยต้องเป็นหนี้เงินกู้ แซมเห็นตัวอย่างว่าเพราะแบบนี้พ่อจึงไม่เคยได้ทำธุรกิจสักที แซมจึงตั้งมั่นว่าเขาจะกู้เงินมาเปิดร้านค้าของเขาแน่นอน (แต่การเริ่มธุรกิจสมัยใหม่ไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว คุณทิม เฟอร์ริส สร้างธุรกิจ 100 ล้านได้โดยทำงาน 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเขาได้สอนคุณใน The 4-Hour Workweek)
ส่วนแม่เป็นสาวใหญ่ใจกล้า เธอชอบคิดไอเดียใหม่ๆ มาหารายได้เสริม เช่น แม่เคยทำธุรกิจขายนม โดยรีดนมวัวที่บ้านใส่ขวด แล้วให้แซมไปเร่ขายตามบ้านต่างๆ
- แซมได้แม่เป็นแบบอย่าง จึงหัดทำงานขายแมกกาซีนตั้งแต่ 8 ขวบ และเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ตอนม.1
- แซมทำงานส่งหนังสือพิมพ์จนเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่เขาไม่ได้ส่งหนังสือพิมพ์ธรรมดา … เขาจ้างผู้ช่วยจำนวนมาก และขยายเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์จนเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่มีรายได้ 5,000 ดอลลาร์ต่อปี (คิดเป็น 2 ล้านบาทในปัจจุบัน) นั่นทำให้เขาเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ตอนเรียนจบพอดี
พออายุ 27 ปี แซมจึงมีทั้งเงินเก็บและประสบการณ์พร้อมสำหรับการเปิดร้านค้าแรกของเขา
ความสำเร็จมาจากการลอกคนอื่นอย่างไม่หยุดหย่อน
ในปี 1945 ตอนที่แซมอายุ 27 ปี เขาก็เปิดร้านขายของร้านแรก ร้านนั้นพอไปได้ แต่ก็ยังขายไม่ดีนัก แต่แซมค่อยๆ ศึกษาร้านคู่แข่งทุกร้านในละแวก แล้วทดลองเทคนิคการขายที่คู่แข่งใช้จนยอดขายสูงขึ้น (ทำการตลาดให้ลูกค้าสูงขึ้น 10 เท่าด้วยเทคนิคในหนังสือ The Tipping Point)
- ในสมัยนั้น ร้านส่วนใหญ่มีแคชเชียร์จ่ายเงินกระจายตามจุดต่างๆ แต่แซมเห็นร้านหนึ่งตั้งแคชเชียร์ไว้แค่หน้าร้านเพื่อลดต้นทุน เขาจึงทำตาม … วิธีนี้ได้กลายเป็นหลักปฏิบัติของร้านค้าทุกชนิดทั่วโลก
- แซมเห็นคู่แข่งร้านหนึ่งมีหิ้งไม้สำหรับแสดงสินค้าขายดี เขาก็ทำตาม แต่เปลี่ยนไม้เป็นโลหะเพื่อลดต้นทุน เท่ากับเขาขโมยเทคนิคของคู่แข่งแล้วทำให้ดีกว่าเดิมเสียอีก
- หลังจากแซมทำร้านจนประสบความสำเร็จ เขาก็ยังไม่เลิกเลียนแบบ ครั้งหนึ่งเขาไปดูงานโรงงานของซัพพลายเออร์ และเห็นพนักงานรวมกลุ่มกัน “ตะโกนเชียร์” ทุกเช้าก่อนเข้างาน แซมเห็นว่ากิจกรรมนี้ปลุกขวัญกำลังใจได้ เขาจึงปรับเป็น “วอลมาร์ทเชียร์” ในแบบของตัวเอง “ศิลปินธรรมดาลอก ศิลปินชั้นยอดต้องขโมย”
สร้างธุรกิจโดยลูกค้าต้องมาก่อน
แซมพบว่าถ้าอยากก้าวเหนือคู่แข่ง เขาต้องลงทุนทุกทางเพื่อดึงดูดลูกค้า (ธุรกิจค้าขายที่ประสบความสำเร็จจะมาแนวนี้หมดเลยครับ อย่างร้านขายของออนไลน์ Amazon ก็ยึดมั่นหลัก “ลูกค้ามาก่อน” เช่นกัน)
- ตอนที่เปิดร้านแรกๆ แซมพบว่าลูกค้าชอบไอศกรีม เขาก็ไปกู้เงินมาซื้อเครื่องทำไอศกรีมมาไว้ในร้านสำหรับลูกค้าโดยเฉพาะ
- เขาพบว่าลูกค้าชอบมาซื้อของวันเสาร์ทีเดียว แต่ต้องไปหลายร้านเพราะแต่ละร้านมีของไม่หลากหลาย แถมยังปิดเร็วอีกต่างหาก แซมจึงพยายามเปิดร้านให้ดึกและมีของที่หลากหลายกว่าคู่แข่ง
- แซมรวบรวมประสบการณ์เปิดร้านต่างๆ จนในที่สุดตอนที่เขาเปิดสาขาที่ 18 ในปี 1969 เขาก็ได้ “สูตรสำเร็จ” ที่จะดึงดูดลูกค้า ได้แก่ ขายของราคาถูก ร้านเปิดตลอด และมีที่จอดรถฟรี
- ต่อให้ร้านต้องเสียกำไรบ้าง ลูกค้าก็ยังต้องมาก่อน มีครั้งหนึ่งลูกค้ามาซื้อสีที่วอลมาร์ท แต่หาสีที่ถูกใจไม่ได้ พนักงานจึงแนะนำให้ไปร้านข้างๆ ที่น่าจะมีสีที่ลูกค้าต้องการ นี่เป็นการทำเพื่อลูกค้าทั้งที่มันอาจทำให้วอลมาร์ทขายของไม่ได้ (ทว่าต่อมาลูกค้าคนนั้นก็ย้อนกลับมาซื้อสินค้าอื่นที่วอลมาร์ทอีก)
การที่วอลมาร์ททำทุกวิถีทางเพื่อลูกค้านั้นทำให้บริษัทกลายเป็นอาณาจักรซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของโลกในที่สุด
ไม่กลัวการแข่งขัน แต่นำมันมาพัฒนาตัวเอง

ก่อนที่วอลมาร์ทจะกลายเป็นเครือซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่นั้น ก็มีคนอื่นใหญ่มาก่อน แต่แซมก็ไม่คิดว่าจะต้องทำธุรกิจผูกขาดเท่านั้นจึงประสบความสำเร็จ (เราเห็นกันในบทความ Zero to One แล้วว่าธุรกิจผูกขาดจะได้เปรียบมากๆ ใครทำก็รวย) วอลมาร์ทนำการแข่งขันมาพัฒนาตัวเองแทน “จะหนีการแข่งขันทำไม ถ้ามันทำให้คุณเก่งขึ้น?” (เหมือนแนวคิด Obstacle Is the Way)
ในช่วงปี 1970 วอลมาร์ทเปิดสาขาใหม่ตรงข้ามกับร้าน Kmart ที่ทำซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนกัน แต่เงินทุนของ Kmart นั้นสูงกว่าถึง 10 เท่า (ตอนนั้น Kmart มี 1,500 สาขา ส่วนวอลมาร์ท 150 สาขา ถือเป็นมวยคนละขนาดแบบใน David and Goliath) ถ้าสู้กันตรงๆ ไม่มีทางเลยที่วอลมาร์ทจะเอาชนะคู่แข่งยักษ์ใหญ่ได้
- ฟิล ผู้จัดการสาขา จึงจัดโปรโมชั่นลดราคา “ผงซักฟอกราคาถูกเหมือนแจกฟรี” แต่เขาต้องสั่งสินค้าล็อตใหญ่มากถึง 3,500 กล่อง เพื่อซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคาต่ำพอที่จะมีกำไร
- พอแซมมาเห็น เขาถึงกับตะลึง! แต่ก็ปล่อยให้ทำไปเพราะไอเดียนี้อาจใช้ได้ผล และมันก็ได้ผลจริงๆ! โปรโมชั่นนี้ทำให้ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาวอลมาร์ท … จากนั้นวอลมาร์ทก็นำกลยุทธ์คล้ายๆ กันมาใช้อย่างต่อเนื่องจน Kmart สาขานั้นปิดตัวไป
- ในปี 1977 วอลมาร์ทเปิดอีกสาขาติดกับ Kmart ที่คราวนี้สู้ไม่ถอย ลดราคาสินค้าทุกชนิดแข่ง … แซมสั่งร้านวอลมาร์ทสาขานั้นว่า “สินค้าทุกชิ้นต้องถูกกว่า Kmart” ในช่วงที่แข่งกันดุเดือดสุดๆ ยาสีฟันราคาเหลือหลอดละ 6 เซนต์เท่านั้น (2 บาท) ในช่วงนี้เองที่วอลมาร์ทคิดค้นกลยุทธ์ “ทำอย่างไรต้นทุนจึงต่ำที่สุด” ขึ้นมาได้จำนวนมาก
- ยิ่งวอลมาร์ทเจอคู่แข่งยักษ์ใหญ่ ก็ยิ่งคิดค้นไอเดียดึงดูดลูกค้าและลดต้นทุนได้มากขึ้น แซมนำกลยุทธ์เหล่านี้มาปรับใช้กับสาขาอื่นๆ ทำให้วอลมาร์ททุกสาขามีต้นทุนต่ำลงอย่างเหลือเชื่อ (จากการแข่งขันเพียง 1 สาขา)
พนักงานคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของบริษัท
ช่วงแรกๆ ที่ทำธุรกิจ แซมให้ความสำคัญกับลูกค้าที่สุด แต่ไม่ใช่พนักงาน แซมเป็นคนขี้เหนียวมากด้วยความที่เกิดมายากจนตั้งแต่เด็ก เขาจึงจ่ายค่าจ้างให้พนักงานต่ำกว่าที่ควร
- ในปี 1955 แซมได้รับโทรศัพท์จากผู้จัดการสาขาแห่งหนึ่ง ว่าเพิ่งขึ้นค่าแรงพนักงานจาก 50 เซนต์เป็น 75 เซนต์ต่อชั่วโมง (ขึ้นค่าแรงแล้วก็ยังถือว่าต่ำเตี้ยมาก) แซมสั่งยกเลิกการขึ้นค่าแรงทันที เพราะร้านนั้นยังมีสัดส่วนกำไรต่อยอดขายไม่ถึง 6% ตามเป้า
แต่เมื่อแซมไปเยือนอังกฤษในปี 1971 เขาพบร้านค้าแห่งหนึ่งชื่อ “J.M. Lewis Partnership” (แปลว่า “หุ้นส่วนของ Lewis”) และมีป้ายติดชื่อ “ผู้ช่วย” ต่างๆ ที่เคยทำงานที่นั่น
- แซมคิดถึงบริษัทของตัวเอง เขาอยากให้บริษัทเป็น “หุ้นส่วน” กับคนที่มาเป็น “ผู้ช่วย” แทน วอลมาร์ทจะเป็นบริษัทที่ “บริหารจัดการพนักงาน” แซมจึงเปลี่ยนชื่อเรียกพนักงานเป็น “ผู้ช่วย” นับจากนั้นเป็นต้นไป
- แต่คำพูดอย่างเดียวไม่มีน้ำหนัก แซมยังริเริ่มโครงการ “ส่วนแบ่งกำไร” โดยแบ่งหุ้นของบริษัทและแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้พนักงาน เพื่อแบ่งปันความสำเร็จของวอลมาร์ทกับพนักงาน
การที่วอลมาร์ทริเริ่มโครงการแบ่งกำไร ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ร้านวอลมาร์ทเริ่มชนะคู่แข่งอย่างถล่มทลาย กลายเป็นว่าพนักงานมองวอลมาร์ทเป็นเหมือนบริษัทของตัวเอง ทุกคนจึงช่วยกันลดต้นทุนและคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ในการขายสินค้า จนวอลมาร์ททิ้งห่างคู่แข่ง … สังเกตว่าผู้นำที่เสียสละให้ผู้อื่นย่อมได้สิ่งดีๆ กลับมา โดยคุณก็เรียนรู้ความเป็นผู้นำได้ใน สรุปหนังสือ Leaders Eat Last
เฉลิมฉลองความสำเร็จ เรียนรู้จากความผิดพลาด

แซมเฉลิมฉลองความสำเร็จ และใช้มันเป็นพลังก้าวหน้าต่อไป
แต่บางครั้งเขาก็ทำผิดพลาด ซึ่งแซมนำมาเป็นบทเรียน ในปี 1974 เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เกือบทำให้บริษัทล้มละลาย ในตอนนั้นวอลมาร์ทกำลังรุ่งมาก แซมจึงคิดว่าจะเลิกบริหารโดยตรง เขาให้รอน เมเยอร์ 1 ในรองประธาน 2 คนขึ้นเป็น CEO แทนตัวเอง … นั่นทำให้เกิดเรื่องใหญ่ทันที
- รอน (รองประธานคนที่ได้เป็น CEO) เริ่มขัดแย้งกับรองประธานคนที่ไม่ได้ขึ้น บริษัทแตกเป็น 2 ฝ่ายที่สนับสนุนทั้ง 2 คน
- ในปี 1976 (อีก 2 ปีให้หลัง) แซมจึงขอกลับมาเป็น CEO ดังเดิมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
- เกิดเหตุการณ์ “วันเสาร์สังหารหมู่” ซึ่งรอน (รองประธานคนที่ได้เป็น CEO) พาผู้บริหารกลุ่มใหญ่ลาออกจากบริษัททั้งทีม เกิดวิกฤติที่แซมเองก็ไม่รู้ว่าบริษัทจะไปรอดไหม ราคาหุ้นวอลมาร์ทร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์
- แซมกัดฟันสู้โดยหาคนมาทดแทนคนที่ลาออกไป ยอดขายกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง ในที่สุดเขาก็พลิกสถานการณ์ได้สำเร็จ
แปดปีต่อมา ในปี 1984 วอลมาร์ทไปถึงเป้าหมายใหญ่ที่แซมเองก็คาดไม่ถึง เมื่อบริษัทมีกำไรสูงถึง 8% ของยอดขาย (pre-tax margin)
- อัตราส่วนกำไรต่อยอดขายบ่งบอกถึง “ความแข็งแกร่งของธุรกิจ” ซึ่งปกติธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่มีอัตรากำไรสูงขนาดนี้ วอลมาร์ทจึงเป็นกรณีพิเศษที่ใน 100 ปีจะมีสักครั้ง
- แซมเคยพนันกับพนักงานไว้ว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อแพ้พนันเขาจึงต้องใส่กระโปรงมาเต้นฮูล่าให้นักลงทุนในวอลสตรีทดู โดยมีคนเล่นเครื่องดนตรีอูคูเลเล่อยู่รอบๆ
- นี่จึงเป็นตัวอย่างที่วอลมาร์ทเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างเต็มที่นั่นเอง
ไม่ลืมตอบแทนส่วนรวม

คนเราเมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ควรตอบแทนสังคมด้วย แล้วความสำเร็จนั้นจะยั่งยืนต่อไป
- ปู่แซมส่งเสริมการศึกษาโดยการให้ทุนระดับมหาวิทยาลัยแก่พนักงานวอลมาร์ท 70 ทุนต่อปี
- ในช่วงปี 1990 เขายังขยายทุนการศึกษาไปประเทศด้อยพัฒนาอีก 180 ทุนอย่างฮอนดูรัสและนิการากัว
- ปู่แซมเชื่อว่าการที่วอลมาร์ทขายของถูกนั้นเป็นการช่วยเหลือผู้คนในตัวมันเองเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าคนชอบมาซื้อของที่วอลมาร์ท ยอดขายของวอลมาร์ทคือปีละ 500,000 ล้านดอลลาร์ (15 ล้านล้านบาท) แต่สินค้าในวอลมาร์ทราคาถูกกว่าคู่แข่ง 10% แสดงว่า ทุกๆ ปีวอลมาร์ทช่วยประหยัดเงินให้ลูกค้าทั่วโลกได้ 50,000 ล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท ซื้อรถไฟความเร็วสูงได้เลย!)
สรุป
แซม วอลตัน ขยายธุรกิจจากร้านค้าในเมืองเล็กๆ เป็นอาณาจักรธุรกิจระดับโลกได้ด้วยการ “เน้นลูกค้ามาก่อน” และ “ลดต้นทุนให้ต่ำ” วอลมาร์ททำเพื่อลูกค้าขนาดยอมแนะนำร้านคู่แข่งที่มีสินค้าที่ลูกค้าอยากได้ (บริษัทที่ยิ่งใหญ่ต้องคิดแตกต่างจากบริษัททั่วไป ซึ่งบิงโกสรุปไว้แล้วใน สรุปหนังสือ Good to Great)
นอกจากนี้ วอลมาร์ทยังพิชิตคู่แข่งด้วยการลอกเลียนแบบ (ช่วงแรกที่เปิดร้าน แซมลอกคู่แข่งจนประสบความสำเร็จ) รวมทั้งคิดค้นกลยุทธ์ขายและลดต้นทุนอย่างไม่หยุดหย่อน
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ
- คำถามที่ว่า Walmart ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรนั้น ไม่ได้จบที่แค่ผู้ก่อตั้งผู้มากความสามารถอย่างปู่แซมเพียงคนเดียว แต่เป็นเพราะการปรับตัวของทั้งองค์กรแม้หัวหน้าจะเปลี่ยนคน และ Big Data ก็เป็นปัจจัยนึงในยุคสมัยนี้ที่ทำให้ Walmart เติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ Walmart ใช้ Big Data จนขึ้นแท่นเป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร?
หนังสือที่อาจจะน่าสนใจกว่าเล่ม Sam Walton
นอกจากประวัติ Sam Walton เล่มนี้ บิงโกมีหนังสือและบทความดีๆ อีกมากที่คุณอาจสนใจ ดังนี้
- ถ้าคุณอยากรู้วิธีคิดของปู่แซมแบบเน้นๆ ยังมีหนังสือ กฎ 10 ข้อของแซม วอลตัน ที่ตีแผ่วิธีคิดของเจ้าพ่อซูเปอร์มาร์เก็ตคนนี้อีกด้วย
- ถ้าพูดถึงร้านค้าปลีก หลายคนต้องเคยได้ยินชื่อร้านค้าออนไลน์อย่าง Amazon ซึ่งว่ากันว่าเจฟ เบซอส CEO ของบริษัทนี้มีวิธีคิดที่โหดเหี้ยมและเฉียมแหลมมาก เจฟเริ่มสร้างธุรกิจตั้งแต่มันเป็นร้านเล็กๆ และขยี้คู่แข่งทุกรายที่ขวางทางจนใหญ่ที่สุดในโลกได้
- หนังสือ Think Like Zuck และ Becoming Facebook จะมาบอกแนวคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเฟซบุ๊ก ที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ ของเด็กมหาวิทยาลัยจนเป็นบริษัทระดับโลก
- ใครอยากรวยต้องมาอ่าน Rich Dad, Poor Dad หรือ “พ่อรวยสอนลูก” หนังสือในตำนานที่จะสอนคุณให้ร่ำรวย มีชีวิตที่มีอิสรภาพ และมีความสุขได้ เขาจะสอนคุณตั้งแต่หลักคิดของ “คนรวย vs คนจน” ไปจนถึงการใช้เงินทำงานแทนคุณ ให้คุณรวยขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องออกแรงทำงานอีกต่อไป
- คนธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจจะเริ่มต้นยังไง? พบกับหนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง” ที่เขียนโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นค่าตัวหลักล้าน ซึ่งจะสอนแนวคิดธุรกิจที่ครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นยัน “expert” เหมาะกับทุกคนที่สนใจธุรกิจ ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น และคนที่อยากเติมความรู้ธุรกิจให้เต็ม!
- หนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง” เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นที่ศาสตราจารย์ด้านผู้นำจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้รวมหลักความเป็นผู้นำทุกอย่างไว้ … เหมาะกับทุกคน!! ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำอยู่แล้ว หรือยังไม่เป็นแต่ฝันว่าสักวันจะต้องก้าวหน้าเป็นผู้นำให้ได้
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก fourminutebooks
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: กฎเหล็ก 3 ข้อในการทำธุรกิจ กับบริษัทกระเป๋าเดินทาง Away - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: Walmart ใช้ Big Data จนขึ้นแท่นเป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร? - สำนักพิมพ์บิงโก